ยินดีต้อนรับ กรุณา สมัครสมาชิก หรือเข้าสู่ระบบ

Home » webboard » สุขภาพ และ ธรรมมะ
เข้าชม : 866

จิตสุขในความทุกข์ ทุกข์ที่ไม่จำเป็น - พระอาจารย์ชยสาโร (ชาวอังกฤษ)

โพสต์เมื่อ: วันเสาร์ 19 มกราคม 2562  17:31 น.

 จิตสุขในความทุกข์  - พระอาจารย์ชยสาโร (ชาวอังกฤษ)



ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสุเมโธฯ ท่านเคยเล่าให้ฟัง
วันแรก ครั้งแรกที่ท่านจะขึ้นธรรมมาสน์ ที่วัดหนองป่าพง
ท่านทราบว่า หลวงพ่อชา ห้ามไม่ให้เตรียมทำเทศน์ล่วงหน้า
แต่ท่านอดไม่ได้ ท่านกลัวจะพูดไม่ออก
ท่านได้เตรียมอย่างละเอียด พิสดารพอสมควร ขึ้นธรรมมาสน์แล้วพูดได้ดี
ลงจากธรรมมาสน์ ทุกคนก็ชม ไม่ว่าพระ ไม่ว่าโยม
ชมว่าท่านสุเมโธ เทศน์ได้ดี ได้ดีมาก ๆ 
เสร็จแล้ว ท่านไปกราบหลวงพ่อชาที่กุฏิ ใจท่านเหมือนกับลูกศิษย์ทั่วไป
ท่านก็ต้องการให้หลวงพ่อชาชมบ้าง แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงอะไรออกมาให้เห็น
หลวงพ่อก็ชวนคุยเรื่องอื่น สุดท้ายท่านก็มองหน้า ท่านอาจารย์สุเมโธฯ
พูดเสียงเรียบ ๆ ว่า โอกาสหน้าอย่าทำอย่างนั้นอีก
หลังจากนั้น ท่านเลยเลิกการเทศน์นอกครู ท่านก็ทำตามที่หลวงพ่อท่านสอน
เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมของอาตมา ก็ตามสไตล์ท่านเหมือนกัน

จะพูดสิ่งที่รู้สึก สมควรจะพูด เรื่องที่เกิดขึ้น ผุดขึ้นมา ในเวลานี้
มีสิ่งหนึ่งที่ผุดขึ้นมา ก็คือความทรงจำ
ว่าสมัยวัยรุ่น ชอบฟังเพลงร๊อค เสียงดัง ๆ เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป
อาตมาขึ้นม.2-ม.3 มีเด็กย้ายบ้าน มาจากลอนดอน ครอบครัวมีฐานะดี
มีเครื่องสเตริโอ รุ่นใหม่สุดอยู่ที่บ้าน ตื่นเต้นเหมือนกัน
คือ เราเป็นเด็กบ้านนอก เขาเป็นคนจากกรุง
เครื่องเล่นดนตรี ของเราเสียงไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่
ก็ตื่นเต้นที่จะได้ฟัง เสียงชัด ๆ เหมือนเครื่องเสียงที่นี่
ก็ไปนั่งฟังเพลงกับเพื่อน ๆ อาตมาก็นั่งหลับตามีความสุข
เพื่อนลุกขึ้นปรับเสียง นั่งลง 2-3 วินาที ทำหน้าเบี้ยว
ลุกขึ้น ปรับนั่น ปรับนี่อยู่เรื่อย
จนกระทั่งอาตมา มีความรู้สึกว่า "ผมฟังเพลง เพื่อนฟังเครื่องเสียง"
เป็นข้อคิดที่ดี ข้อหนึ่ง ตอนหลังมาศึกษาปฏิบัติธรรม เพราะเป็นคนมีการศึกษาน้อย
ก็อยู่ในป่า บางทีคุยกับเพื่อนที่มีการศึกษามากกว่า เวลาท่านฟังเทศน์ เราฟังเทศน์
ก็มีความรู้สึกเหมือนสมัยวัยรุ่นว่า เราฟังเสียง ท่านฟังเครื่องเสียง
ท่านรู้มาก แล้วท่านก็เลยไม่ค่อยมีความสุขเหมือนเรา

หลวงพ่อชาท่านบอกว่า บางสิ่งบางอย่าง ผมสอน อาจจะไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฏก
แต่ไม่เคยออกนอกเขตของตำรา มันสอดคล้องกันได้ เป็นเรื่องเดียวกัน
ทั้งเรื่องความทุกข์ เรื่องความสุข ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนทุกคน
ไม่ว่าเราเป็นนักบวช เราเป็นคฤหัสถ์ เหมือนกันหมด

พระเรา ถ้าไม่มีความสุขในชีวิตพรหมจรรย์ ก็คงอยู่ได้ไม่นาน
แรก ๆ อาจจะมีสิ่งดลบันดาลใจ ตั้งอก ตั้งใจ กัดฟัน อดทน สู้
แต่เราจะมีศรัทธามากน้อยแค่ไหน จะปฏิบัติ แบบ สู้ กัดฟัน เหรอ
ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี ก็หมดแรง

ผู้ที่อยู่ได้นาน ก็คงมีความสุขในชีวิตพรหมจรรย์ มากกว่าที่จะมีความสุขข้างนอก
บางท่าน จะพยายามบอก ชีวิตคฤหัสถ์ แย่มาก.. 
อาตมามักจะสังเกตุ คนที่ชอบว่าชีวิตของโยมด้วยสำนวนแรง ๆ
มักจะลาสิขาออกไป ภายในไม่กี่ปี
เพราะจะมีความรู้สึกอย่างนั้นที่จะต้องแสดงออก

ในชีวิตของเราทุกคน เราต้องหันมาสนใจศึกษาเรื่องความสุข เรื่องความทุกข์ 
ความทุกข์เกิดมาจากสิ่งได ความสุขเกิดมาจากสิ่งใด ??
ความทุกข์ ความสุข มีความสัมพันธ์ หรือ อาศัยกันอย่างไร ??
โดยที่เราถือหลักสำคัญ ว่า..
มนุษย์เรามีศักยภาพในการเรียนรู้ มนุษย์เราสามารถเปลี่ยนแปลงหรือกลับใจได้
ไม่มีอะไรสักอย่างอยู่ในชีวิตของเรา หรือในจิตใจของเรา ที่เป็นของแน่นอนตายตัว
มีแต่สิ่งที่ผันผวนปรวนแปรอยู่ทั้งนั้น และในกระแสของความเปลี่ยนแปลงนั้น
คือมีปัญญาจะศึกษา เพื่อให้ทราบว่า ส่วนไหนควรจะอดทน ทำใจ
ส่วนไหนเราควรจะปรับปรุงแก้ไข ส่วนไหนควรจะส่งเสริมอย่างมีสติ
กระแสนั้นเป็นสลับซับซ้อนพอสมควร
ผู้ที่ไม่สนใจศึกษา มักจะจับผิดประเด็น อย่างเช่น
อดทนในสิ่งที่ไม่ควรอดทน บางทีกลัดกลุ้มใจ ว่าเป็นครูต้องอดทนสูง
นั่นก็เป็นความอดทน ในสิ่งที่ไม่ควรอดทน
หรือทำความเพียร ในสิ่งที่ไม่มีทางจะได้ผล
หลวงพอชา ท่านเปรียบเทียบ เหมือนกับชาวบ้านผู้ไปตกปลา ในหนองที่ไม่มีปลา
ขยันหมั่นเพียรอย่างไร ก็ไม่มีทางจะได้ปลาขึ้นมา

เราจะทำสิ่งใด เราต้องฉลาด ที่จะรู้ว่าคุ้มค่าไหม
กับการใช้เวลา ใช้กำลังกาย กำลังใจ ในการดำเนินสิ่ง สิ่งนั้น

ไม่ให้อดทน ในสิ่งที่ ไม่ควรอดทน
แต่อดทน ในสิ่งที่ ควรอดทน

สิ่งที่ควรรัก เราก็ต้องควรรักให้ถูกจุดของมัน ก็ต้องมีเทคนิค ต้องมีวิธีในการรัก

ในการบำเพ็ญ ก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า
มิจฉาทิฏฐิ - ความเห็นผิดเป็นบาปอย่างยิ่ง
เพราะถ้าเราเกิดความไม่รู้ ไม่เข้าใจ
หรือว่า รู้ผิด เข้าใจผิด ใน เรื่องบุญ และ บาป
เรื่องกุศล อกุศล จะทำให้เรา อาจจะแสวงหา บางสิ่งบางอย่างด้วยเชื่อว่าเป็นบุญ
หรือว่าอาจจะเกิดความละลายในความเกรงกลัวต่อบางสิ่งบางอย่าง ที่เชื่อว่าบาป
แต่ที่จริงไม่ใช่ เป็น บุญ

ฉะนั้น จิตใจของเราต้องระมัดระวังให้มาก
ถ้าตั้งต้นผิดแล้ว มันจะผิดไปอย่างไม่รู้ตัว

ถ้าคนรู้ บาป บุญ คุณ โทษ
อย่าง.. พลั้งพลาด ผิดพลาดบ้าง ก็ยังพอมี หิระโอตัปปะ เป็นเครื่องห้ามอยู่บ้าง

แต่ถ้าเกิดความเข้าใจผิด ว่าอันนี้ดี ทั้งๆ ที่ไม่ดี
อันนี้ไม่ดี ทั้งๆ ที่ดี อันนี้อันตราย

-------------------------------------------------------------------------------------

พระอาจารย์ ชยสาโร ภิกขุ เทศนาเรื่องทุกข์ที่ไม่จำเป็น


ครูบา อาจารย์ เรา ท่านสอนว่า
ทุกสิ่งทุกอย่าง พร้อมที่จะสอนเราอยู่ตลอดเวลา
แต่ว่าคนส่วนมาก ยังไม่ยินดี ยังไม่พร้อมที่จะได้บทเรียน
แต่การเรียนรู้เรื่องชีวิต นั้นไม่มีภาคบังคับ แต่เป็นเรื่องสมัครใจ
ถ้าถูกบังคับ ก็บังคับด้วยกาย ทั้ง ๆ ที่จิตใจยังไม่พร้อม
จิตใจยังไม่เห็นประโยชน์ นั้นก็คงจะไม่ได้อะไร

ฉะนั้นพุทธศาสนาของเรา ค่อนข้างจะแปลก
บางสิ่งบางอย่าง อาจจะเหมือนกับศาสนาอื่น ๆ ทั่วไป
แต่พุทธศาสนาของเรามีเอกลักษณ์อยู่ เพราะหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก
ที่พระองค์ตรัสไว้ ว่า
ไม่มีพลัง ไม่มีสิ่งใดเหนือธรรมชาติ ที่จะดลบันดาลชีวิตของมนุษย์
ไม่ว่าในทางดี หรือ ทางร้าย

เพราะฉะนั้น ปัญหาของมนุษย์ ไม่ใช่ว่า
ทำอย่างไร แล้วจึงจะได้ทำสิ่งที่ พลังสูงสุดต้องการ
ทำอย่างไรแล้วจึงจะได้มั่นใจว่าตายแล้ว เราจะไปที่ดี
คือเรา ไม่ได้มองว่า ปัญหาอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

แต่พระพุทธองค์ ทรงยืนยันว่า
ปัญหาของมนุษย์ อยู่ที่ตัวมนุษย์ของเราเอง
ชีวิตของเราจะดี จะร้าย จะสุข จะทุกข์ จะเจริญ จะเสื่อม
อยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล
แต่เมื่อเรามองชีวิตของมนุษย์
แล้วเราจำเป็นต้องสรุปประสบการณ์ความเป็นอยู่ ของตัวเองก็ดี
ของมนุษย์ก็ดี ได้คำเดียว เราจะสรุปคำไหน 

พระพุทธองค์ เสนอคำว่า "ทุกข์" 
ซึ่งมีความหมายที่กว้างขวาง แต่ลึกซึ้งมาก
ความทุกข์มีตั่งแต่ ทุกขเวทนา ร้ายแรง ตลอดจนถึง .......
เป็นจิตใจที่ละเอียดสุขุมที่สุด ก็ยังถือว่า เป็นทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์แบบทุกขเวทนา
แต่เป็นทุกข์ในความหมายว่า บกพร่อง ทุกข์ในความหมายว่า ไม่สมบูรณ์

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
ชีวิตของมนุษย์พร่องอยู่เป็นนิจ ชีวิตของมนุษย์ไม่สมบูรณ์
ชีวิตของมนุษย์พร้อมที่จะมีปัญหาตลอดเวลา

ถึงจะไม่มีปัญหาหนักๆ อยู่ในปัจจุบัน
เมื่อกายและใจของเราเป็นอย่างนี้ เรียกว่าเราไม่ปลอดภัย
พร้อมที่จะมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้พระพุทธองค์ เลยว่า
ชีวิตของมนุษย์ คือ ทุกข์ (ไม่ได้บอกว่าชีวิตเป็นทุกข์นะ)
แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทุกข์

ถ้ามีแต่ คำสอนว่า ชีวิตคือทุกข์
ก็อาจจะถูกตำหนิได้ว่า...
เอ ทำไมพระองค์มองชีวิตในแง่ร้ายจัง

แต่ พระองค์ก็ตรัสไว้ว่า
ถ้าดูให้ชัดแล้ว จะเห็นว่าใช่ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ตลอดกาลนาน
ที่เป็นอย่างนี้ ที่ชีวิตของมนุษย์ คือ ทุกข์
คือขาดสุขที่แท้จริง ขาดความสมบูรณ์
ก็เพราะมีเหตุมีปัจจัย คือ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ที่ต้องยอมรับ ทำใจ
และเหตุปัจจัย ของความเป็นทุกข์ของชีวิต
อยู่ที่ความไม่เข้าใจชีวิต ตามความเป็นจริง
หลักนี้สำคัญมาก คือ แทนที่จะมองว่า
ปัญหาคือปัญหาระหว่างมนุษย์กับเทพ กับบรมเทพ กับสิ่งเหนือธรรมชาติ
ถือว่า..
ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ความเป็นจริงของชีวิต

เพราะฉะนั้นศาสนาในความหมายของพุทธเรา ไม่ใช่ระบบความเชื่อ
แต่ศาสนาก็คือวิชา ที่จะนำมนุษย์ ออกจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจตัวเอง
ไปสู่ ความรู้ ความเข้าใจตัวเอง
และ เมื่อพร้อมกับความรู้ ความเข้าใจตัวเองนั้น
ความสุขที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้น

พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า 
ความไม่รู้ ตามความเป็นจริง คือ ทุกข์
ความรู้ ตามความเป็นจริง คือ สุข


มนุษย์ที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรม ย่อมอยู่ด้วยความไม่รู้
มนุษย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในทางที่ถูกต้อง
มีโอกาส ที่จะมีความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริง
และเป็นความสุขที่สมบูรณ์ เป็นความหวังของมนุษย์

---------------------------------------------------------

ถัดมา
เริ่มต้น นาทีที่ 23 ในคลิปวีดีโอ.. พระอาจารย์ชยสาโร บรรยายไว้ดังนี้

ทุกข์กาย ไม่ใช่เรื่องของกิเลส ทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติ
แต่.. ที่เป็นปัญหาของมนุษย์ คือ ทุกข์ทางใจ
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
เรามีหลักอย่างหนึ่งว่า ....
ถ้าทุกข์ทางใจ แล้วให้รู้ทันทีเลยว่า กำลังมีตัณหา
ทุกข์เพราะตัณหา ทุกข์เพราะอวิชา
ทุกข์เพราะคิดผิด ทุกข์เพราะต้องการ
จุดนี้จะเป็นจุด ที่มีการพิจราณาธรรมจะเกิดขึ้น

อย่างเช่น คนไปทำอะไร ที่เรารู้สึกว่า ไม่ชอบ
ถ้าถามคนทั่วไป ว่าทุกข์ทำไม
ทุกข์ที่ทนไม่ได้ที่เค้าทำอย่างนั้น ....
ทุกข์เพราะเค้าเห็นแก่ตัว ....
ทุกข์เพราะเค้าเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ....

ที่จริงแล้ว ต้องแยกระหว่างความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น
และความรู้สึกในจิตใจของเรา
คือการบอกว่าทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ใจ
ในทางพุทธถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เรามีหน้าที่ทำใจ
ปล่อยวาง อย่าไปยุ่งกับสิ่งนั้นเลย
ให้จิตใจของเราสงบ ยอมรับ อย่าไปคิดอะไรมาก

พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า
ต้องแยกระหว่าง สิ่งที่เกิดขึ้น และความรู้สึกของเรา
เมื่อมีคนทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน
แล้วเราโกรธ แล้วอาจจะคิดว่ามีสิทธิ์ที่จะโกรธ
เราโกรธความไม่ดี เราโกรธเพราะเราเป็นคนดี
ที่รับไม่ได้ที่มีคนทำความไม่ดี

ถ้าเราปฏิบัติถูกหลัก พอเรารู้สึกโกรธเกิดขึ้น
จะมีสัญญาณบอกว่า คิดผิดแล้ว
ตัณหาเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่แล้ว
เพราะความโกรธย่อมเกิดจากตัณหาเท่านั้น
ถ้าไม่มีตัณหานี้ - โกรธไม่ได้
ไม่มีความคิดผิดนี้ - โกรธไม่เป็น 
โกรธเมื่อไหร่ แสดงว่าผิดทางแล้ว หลงทางแล้ว
ไม่มีอย่างอื่น ต้องเด็ดขาดตรงนี้

ในพุทธศาสนาของเรา ไม่มีแนวความคิดว่า
ความโกรธ สมควรในบางกรณี
เราไม่สมควรในทุกกรณี เพราะอะไร ...
เพราะไม่ใช่ว่าเรายอมรับ หรือว่า เราถือว่าไม่เป็นไร
แต่..ที่ไม่สมควรก็เพราะว่า
ต้องเกิดจากความคิดผิด มันจึงเกิดได้
ต้องเกิดจากตัณหา จากอวิชา มันจึงเกิดได้

แล้วที่เราเห็นว่าทุกข์ทั้งหลาย
จะดับได้ด้วยวิชา เราก็ต้องแก้ที่ตรงนั้น
เมื่อเราเห็นใครทำความไม่ถูกต้อง
ทำอะไรที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้ชุมชน

หน้าที่แรก คือ ต้องทำจิตใจตัวเองให้เป็นกลาง
แล้วจะทำอย่างไร....
จิตใจของเราจะเป็นกลาง หนุนด้วยพลังสติ พลังสมาธิ
ด้วยความเกรงกลัว ...
ความละอายต่อการปล่อยให้จิตใจโกรธโมโห
ด้วยการใช้ปัญญา

เห็นว่าคนทำอะไร ก็ทำ ...
เพราะเขามีความคิดอย่างนั้น เขามีวุฒิภาวะแค่นั้น
เพราะมีเหตุ มีปัจจัย ...
พอเราเริ่มฝึกให้เห็นสิ่งต่างๆ เกิดตามเหตุ ปัจจัย
จิตใจของเราจะเย็นลง

เมื่อจิตใจของเราปกติแล้ว ไม่โกรธ ไม่โมโห
ปัญญาจะเกิดขึ้นได้
ปัญญาที่ไม่เข้าข้างตัวเอง
ปัญญาที่มองเห็นว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร
เราควรจะแก้อย่างไร ส่วนไหนที่เรายังแก้ไม่ได้ 
ส่วนไหนที่ควรจะรีบไปแก้ไขก่อน
อันไหนที่ควรจะแก้ทีหลัง

ความคิดรอบคอบ ความคิดสุขุม
จะเกิดขึ้น ในเฉพาะจิตใจที่เป็นกลาง

ถ้าจิตใจเราโกรธ โมโห
การแก้ไข มักจะไม่ค่อยได้ผล
ความโกรธทำให้เราหุนหันพลันแล่น
ทำอะไรก็ไม่ค่อยจะถูก
การพูดก็ไม่ค่อยเรียบร้อย
จิตใจ ก็หยาบ กาย วาจา ก็หยาบ

เมื่อ กาย วาจา ใจ ของเราอยู่สภาพที่หยาบ
แล้วเราจะแก้ปัญหาที่ละเอียด ลึกซึ้ง ได้ไหม

---------------------------------------------------------------------



2556.05.05 ยิ่งเคี้ยว ยิ่งเศร้า โดยพระอาจารย์ชยสาโร


เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
ตอนอาตมาเริ่มศึกษาในพระพุทธศาสนา ที่ประเทศอังกฤษนั้น
ก็เริ่มด้วยการอ่านหนังสือ
แต่ในสมัยนั้น หนังสือทางพระพุทธศาสนา
ส่วนมาก ส่วนใหญ่ จะเป็นหนังสือ นิกายเซน
จะเป็นฝ่ายเถรวาท พระไตรปิฏกมีแปลเรียบร้อยแล้ว
จริง ๆ พระไตรปิฏกแปลเป็นภาษากฤษ 
เสร็จเรียบร้อยก่อน ภาษาไทย ด้วยซ้ำไป
แต่ถ้าหนังสือเรื่องภาคปฏิบัติ จะเป็นนิกายเซน

แล้วอาตมาก็หนังสือเซน เหมือนคนทั่วไป
คือจะเน้นจำพวกนิทาน คือ ดึงออกจากบริบท
ของการฝึกอบรม ของพระเซน
เล่าเป็นนิทานที่ฟังแปลกสนุก ๆ
ซึ่งก็ได้ความเข้าใจ ผิด ๆ ถูก ๆ
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนอ่านหนังสือ

-------------------------------------------------------

ถัดมา
นาทีที่ 4 เป็นต้นไป

ต่อมา อาตมาก็ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ประทับใจมาก
เป็นประวัติของพระผู้ใหญ่ ท่านเป็นสังฆปริณายกของจีน
ท่านเป็นพระที่ยิ่งใหญ่ของเมืองจีน ในศตวรรษที่แล้ว
เทียบกับหลวงปู่มั่นของเรา 
อาตมาออกเสียงท่าน ไม่ค่อยจะถูก

แต่เมื่อไม่นานมานี้ โดยบังเอิญ
ก็ได้มีโอกาสไปแสดงธรรมในบ้านของลูกศิษย์ท่าน

ก็เลยได้เล่าให้คนนี้กับคณะ ว่า...
เป็นเรื่องที่อ่านแล้วประทับใจตั่งแต่ยังไม่บวชเป็นพระ
พระอาจารย์รูปนี้ท่านมีอายุถึง 120 ปี จึงจะมรณะภาพ
แต่ตอนอายุท่านจะ 100 แล้วมั้ง...
ท่านก็อยู่เมืองจีนหลังจากคอมมิวนิสต์ยึดครองแล้ว
ก็ยังไม่ค่อยจะรุนแรงกับพระเท่าไหร่ 
จนกระทั่งเกิดช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ในวันหนึ่ง
มีทหารกลุ่มหนึ่ง ทหารหนุ่มกินเหล้าเมา ขึ้นไปที่วัด
ดึงหลวงพ่อออกจากกุฏิ ซ้อมทำร้ายร่างกายอย่าสาหัส
ลูกศิษย์ ลูกหา นึกว่าท่าน ท่านจะต้องมรณะภาพแน่ๆ
เพราะท่านอายุ 100 ปีแล้ว

ปรากฏว่าแทนที่จะมรณะภาพ ท่านสู้เต็มที่
ซึ่ง ลูกศิษย์ ลูกหา ก็ประทับใจในพลังจิตของท่าน
ซึ่งอายุ 100 ปี สังขารถูกทำร้ายถึงขนาดนี้
ท่านก็ยังรักษา จนไม่มรณะภาพได้

มีลูกศิษย์ของท่าน เกิดความสงสัยว่า
ท่านสู้ทำไม ในเมื่อท่านอายุ 100 กว่าปีแล้ว
มากกว่าพระพุทธเจ้าตั้ง 20 กว่าปี
ท่านก็หมดกิจในพระพุทธศาสนา
ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างก็เรียบร้อยแล้ว
ทำไมท่านไม่ปล่อยให้มรณะภาพไปเลย

บางท่านก็เกิดสงสัยขึ้นว่า ท่านนั้นกลัวตายหรือป่าว
ท่านยังไม่หมดกิเลสหรือป่าว

ก็มีพระรูปหนึ่ง ก็บังอาจ ถามท่าน ว่า...
หลวงพ่อทำไมถึงสู้ ทำไมถึงไม่ยอมปล่อยสังขาร
ท่านก็ตอบว่า นี่ทหารรุม 2-3 คนเองนะ
ถ้าหลวงพ่อมรณะภาพไป
เค้าก็ทำอนันตริยกรรม ตกนรกอเวจี
แต่ถ้าหลวงฟื้นตัวขึ้นมา
บาปกรรมก็ยังอยู่ในระดับที่พอแก้ได้
เขามีโอกาสจะกลับตัวเป็นคนดีต่อไปได้
แล้วอาตมาก็รู้สึกซึ้งมากในเมตตาของท่าน
ในความมีน้ำใจ ซึ่งถูกทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นนี้แล้ว
แทนที่ท่านจะโกรธ จะแค้น ...
ท่านก็ยังยอมทนทุขเวทนาอย่างรุนแรงในระยะเวลายาว
เพื่อจะช่วยชีวิตของผู้ที่ล่วงเกินท่าน

นี้... ก็เป็นตัวอย่างของพระอริยสงฆ์
ที่รู้สึกซาบซึ้งตั่งแต่ยังไม่บวช
ก็เป็นตัวอย่าง... แก่พวกเราทุกคน 
ถึงแม้บางที ก็แค่คนพูดอะไรบางอย่าง
หรือทำท่าอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกใจเรา
ก็แค้น.... เป็นเดือนก็มี เป็นปีก็มี
นี่ถ้าจะให้ ถ้าท่านสามารถให้เขาตกนรกอเวจี ก็จะช่วยไปส่ง

อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของสงฆ์ หน้าที่ของพระอริยสงฆ์
ที่จะเป็นพยาน หรือจะเป็นผู้พิสูจน์
ว่าศักยภาพของคนเราทุกคน มีได้ถึงขนาดนี้นะ ...



 


s
[ ความเห็นที่ 1]
RE : จิตสุขในความทุกข์ ทุกข์ที่ไม่จำเป็น - พระอาจารย์ชยสาโร (ชาวอังกฤษ)
โพสต์เมื่อ: วันพฤหัสบดี 24 มกราคม 2562  12:52 น.
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
การฝึกดูจิต ให้พ้นทุกข์ ทำอย่างไร ??
พระธรรมเทศนาสำหรับผู้เริ่มต้น




ธรรมมะนั้นเป็น ของดี ของวิเศษ
แต่คนทั่วไปนั้นไม่เข้าใจ
น่าเสียดายที่สุดเลย...

เรามีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาก
ก็คือ ธรรมมะ นี่แหละ
อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานเป็นพันๆ ปี
แต่เราอยู่มา จนเราเคยชิน
เกิดมาเราก็ได้ยินเรื่องของศาสนาพุทธ
เกิดมาเราก็เห็นวัด เกิดมาเราก็เห็นพระ
เราคุ้น ๆ ...
คุ้น.. จนกระทั่งที่เรา "ไม่ได้สนใจ"

ถ้าหากใครได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรม
เราจะได้รับสิ่งซึ่งมีประโยชน์ที่สุดในชีวิต
สิ่งที่มีประโยชน์ในชีวิตเรา
ที่ทุกคนใฝ่ฝัน ทุกคนปรารภนา
"ทุกคนอยากได้รับ ความสุข"

ทุกคนดิ้นรนหาความสุขตลอดเวลา
อย่างเรามานั่งทำมาหากินทุกวันๆ
เราก็อยากมีเงิน มีตำแหน่ง
มีหน้าที่ มีชื่อเสียง
เราเห็นว่า ถ้ามีสิ่งเหล่านี้
เราจะมี ความสุข

หรือในบางคน อยากใหญ่ อยากโต
อยากเป็น นายก
อยากเป็น อย่างโน้นอย่างนี้
หวังว่า เป็นแล้ว จะมีความสุข

เพราะฉะนั้น
สิ่งที่มนุษย์เราแสวงหาตลอดชีวิตนั้น
ก็คือ ความสุข

แต่ความสุขนี้เป็นเรื่องแปลก
เป็นเหมือน เงา
วิ่งไล่จับ เงา
เหมือน ๆ จะจับได้นะ 
แต่ก็จับไม่ได้สักที

เราสังเกตไหม ในชีวิตเรา...
ลองนึกทบทวนไปว่า
ช่วงไหนในชีวิต
ที่ เรามีความสุขมากที่สุด ??
พอจะนึกออกไหม...
ใครมีความสุขตอนเด็ก ๆ บ้าง

ตอนเด็กๆ รู้สึกไหม ...
ว่าถ้าโตขึ้นจะมีความสุข ..

นี่ ...
เราเริ่มอาภัพมาตั่งแต่ตรงนี้แล้วนะ
ตอนเด็กๆ เราคิดว่า ...
ถ้าเราโตขึ้นเราจะมีความสุขใช่ไหม??
พอโตขึ้นมาจริง ๆ เราคิด ...
ตอนเด็ก ๆ นี่แหละ เรามีความสุข

ทำไมจึงมีความสุข
เพราะไม่ต้องรับภาระอะไร
ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
ทุกวันนี้รับผิดชอบแสนสาหัส
รับผิดชอบตนเองคนนึงก็ลำบากแล้ว
บางคนก็มีครอบครัว
มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากมาย


เราอยู่ในโรงพยาบาล เราดูสิ..
คนมีความทุกข์เต็มไปหมดเลย
คนที่มา รพ. นี้ ไม่มีใครไม่จนหรอกนะ
มีเงินนะ แต่ก็ยังมีความทุกข์
นึกออกไหม ....

เห็นคนตายไหม??
รวย .. แค่ไหนก็ ตาย ...

ทำไมหล่ะ ...
หาความสุขกันตลอดชีวิตเลยนะ
หาไปเรื่อย วิ่งไปเรื่อย วิ่งไปเรื่อย
วิ่งเท่าไหร่ เท่าไหร่ ก็ไม่มีจุดใด
ที่เราจะนึกลงไป.. แล้ว ... 
มันอิ่มอกอิ่มใจ ว่าตรงนี้แหละ..
คือ ความสุขที่แท้จริงในชีวิต

ตอนเด็ก มันก็ไม่เต็มอิ่ม
มันก็รู้สึกว่าโตแล้วจะมีความสุข
พอโตขึ้นมาจริงๆ
ก็รู้สึกว่าตอนเด็กมีความสุข
ทั้งๆ ที่ความสุขตอนเด็กๆ นั้น
เราเคยตัดสินไปแล้ว ....
ว่า " ไม่เต็มอิ่ม... "

ทีนี้เราจะทำอย่างไร ให้เราหาความสุขได้
ถ้าคนเรามีความสุขในชีวิตได้จริง ๆ
คนไหนที่มีจิตใจ มีความสุขจริง
มันจะเต็มอิ่มอยู่ในตัวเอง
เพราะความสุขที่เต็มอิ่มอยู่ในตัวเอง
ความเมตตากรุณา จะล้นออกไปหาคนอื่น
จะอยากให้คนอื่นมีความสุข

คนที่ทำร้ายคนอื่น เบียดเบียนคนอื่น
เพราะจริงๆ แล้ว ตัวเองนั้นไม่มีความสุข
ถ้าเรามีความสุขอยู่
เต็มอิ่มอยู่ด้วยตัวของเราเองได้นะ
ความเมตตา กรุณา จะเกิดขึ้น
แทนที่จะคิดเบียดเบียนคนอื่น
แต่กลับ .. จะเห็นอกเห็นใจคนอื่นนะ
เรียกว่า "คนมันเต็ม"

เพราะฉะนั้น
เรามาฝึกตัวเองให้เป็น "คนเต็มคน" สักที
ไม่เช่นนั้นเราก็จะเป็นคนที่ "หิว" ตลอดเวลา
"หิวความสุข" นั้นแหละ ดิ้นรนไปเรื่อย ๆ

ทำอย่างไรชีวิตเราจึงจะมีความสุข ??
เราต้องรู้ก่อนว่า อะไรทำให้เราไม่มีความสุข
สิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุข
พระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า ตัว "สมุทัย"
คือ เหตุให้เกิดความทุกข์

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุ
ถ้ามีเหตุ มันก็มี...
ถ้าไม่มีเหตุ มันก็ไม่มี... ทำยังไงก็ไม่มี
ความทุกข์ก็ต้องมีเหตุ ความสุขก็มีเหตุของมัน
เหตุที่ทำให้เราไม่มีความสุข
เหตุที่ทำให้เราเกิดทุกข์ เค้าเรียกว่าตัวสมุทัย
คือ ความอยาก


สังเกตุไหม
มีความอยากทีไร ก็มีความทุกข์ ทุกที
คนในโลก มักมีความคิดว่า ... 
ถ้าอยาก แล้วสม อยาก จะมีความสุข
อยาก แล้วไม่สม อยาก จะมีความทุกข์
รู้สึกอย่างนี้ไหม ??

สมมุติว่าอยากได้ Iphone 4 (ไอโฟน)
พอได้มาก็มีความสุขประเดี๋ยวเดียวนะ
บางคนมีความสุขแค่แป๊ปเดียว
เอามาถึงโรงพยาบาล มาอวดเพื่อน
ส่วนเพื่อนก็งัด Iphone 4 ของเขา
เอามาให้เราดูบ้าง
ความสุขของเราก็หายไปเยอะแล้ว
เพราะเขามีเหมือนเรา ไม่เด่นกว่าเขา
แถมเขาซื้อมาได้ถูกกว่าเรา 50 บาทด้วย
เรากลับมี "ความทุกข์" เยอะเลย

ความอยากเกิดขึ้นทีไร
ควาทุกข์เกิดขึ้นทุกที
ความอยากเป็นอนัตตา ห้ามไม่ได้หรอก

เพราะอย่างนั้น อยู่ๆ เราจะไปบอก ใจ
บอกว่า อย่าอยาก อย่าอยาก อย่าอยาก
ใจจะไม่ฟัง ใจอยาก ใครจะห้ามได้
แต่พออยากแล้ว เราก็ดิ้นรน ...
เหน็ดเหนื่อยมาก ในการสนองความอยาก
ในแต่ละเรื่อง เมื่อความอยากอันนี้จบลงไป
ความอยากอันใหม่ก็เกิดขึ้นทันทีเลย

สมมุติว่าเรากลุ้มใจ
เราอยากจะไปเที่ยว ไป ดูหนัง ฟังเพลง
เสร็จแล้ว ก็มีความสุขตอนนั้นแปล๊บๆ นะ
เดี๋ยว อยาก ต่อ ล่ะ ดูหนังเบื่อแล้ว หิวแล้ว
เกิดอาการ อยากกิน ต่อ ...
ก็ไปหาของอร่อยกิน ...

มีลูกศิษย์หลวงพ่ออยู่คนหนึ่งนะ
เค้าฐานะดีพอสมควร
วันหนึ่งอยากกินขนมตาล
เที่ยวหาขนมตาลกิน สงสัยไม่เคยทำบุญ
เอาขนมตาลมาใส่บาตร
วันที่ไม่ได้อยากกินนะ เจอเต็มไปหมดเลย
วันที่อยากกิน อุตสาห์วิ่งไปถึงแถววัดไร่ขิง
ไปดูตามตลาดน้ำ ก็หาไม่ได้นะ

เมื่อใจมีความต้องการ มีความอยากขึ้นมา
เราก็จะดิ้นไป พยายามสนองความอยาก
ต้องสนองไปเท่าไหร่ ??
สมมุติว่า ถ้าสนองความอยากได้
ก็ได้ความสุขมา..แปล๊บ..หนึ่ง..
ก็เกิด "ความอยาก" ตัวใหม่ขึ้นอีก ...
ถ้าสนองไม่ได้ กลับมีความทุกข์เยอะเลย
รู้สึกไหม ??

สังเกตุไหม ในชีวิตเรา
ความทุกข์ที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นมา
มันเกิดจากเรา " ไม่ สม อยาก "

อย่างเช่น มีแฟนอยู่ แล้วแฟนเราเปลี่ยนใจ
ไม่รักเราแล้ว ไปจีบคนอื่น ไปชอบคนอื่น
เราอยากให้เค้ารักเรา แล้วเขาไม่รัก
ทุกข์ไหม ?? จะทุกข์ทันทีเลย
รวย ... แค่ไหนก็ทุกข์นะ
ใหญ่ ... แค่ไหนก็ทุกข์นะ

ถ้าใจมันมี "ความอยาก" ขึ้นมา
อันนี้เป็นความทุกข์ทางจิตใจนะ
ความทุกข์ทางร่างกาย เช่น เดินหกล้ม
แข้ง ขา เคล็ด เป็นเรื่องปกติ
ความทุกข์ทางร่างกาย ต้องให้หมอรักษา
แต่ความทุกข์ทางใจ ต้องดูแลใจของเราเอง
ทุกคนรักตัวเอง
ทุกคนอยากให้ตัวเองมีความสุข
แต่ทุกคนละเลยตัวเอง ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ
กับจิตใจของเราเอง เราอยากให้คนอื่นรู้ใจเรา
แต่เราไม่เคยรู้ใจตัวเอง

เพราะฉะนั้น เราควรมาหัดพัฒนาใจของเรา
ให้ใจมีความเต็มอิ่ม อยู่ในตัวเอง
เมื่อ ความอยาก อะไร เกิดขึ้น
แทนที่จะต้องวิ่งสนองมันไปเรื่อย ๆ
หรือ ยิ่งห้ามมัน ...
บางคนต่อต้าน ความอยาก 
แล้วคิดว่าจะพ้นทุกข์ นะ

เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเจ้าชายที่มีความเป็นอยู่ที่ดี
ต้องการอะไรก็ได้ ในทางวัตถุ ทางโลกนะ
ได้ทุกอย่างได้ทั้งหมด สนองความอยากเยอะแยะ
แต่ก็ ไม่เต็มอิ่ม ขนาดเป็นเจ้าชายนะ
เจ้าชายเป็นลูกชายคนเดียวด้วย
พ่อ-แม่ มักจะเอาใจมาก ...
ถึงขนาดนั้นท่านยังรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่ม
ไม่มีความสุขจริง
ความสุขอย่างที่เราหลงตามโลกนั้น
ไม่มีความสุขจริง

ถ้ามีความอยาก แล้วสนองความอยากไปเรื่อยๆ
นั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ...

เมื่อมี ความอยาก เกิดขึ้นมา
ถ้าสนอง "ความอยาก ได้"
ก็ได้ความสุขมา..นิดหนึ่ง.. 
ถ้าสนอง "ความอยาก ไม่ได้" 
กลับได้ความทุกข์เยอะเลย


ถ้าไปปฏิเสธ ความอยาก ก็มีความทุกข์
พวกฤาษี ฯลฯ ที่ทรมานตัวเอง
อยากกิน ไม่กิน อยากนอน ไม่นอน
อยากสบาย ก็ทรมานร่างกายตัวเอง
หวังว่า ฝืนความต้องการ ฝืนตัณหา
แล้วจะมีความสุข แต่ก็ไม่ได้มีความสุข

พระพุทธเจ้าจึงสอนทางสายกลาง
ที่เราจะเข้าถึงความสุขได้ง่ายๆ คือ
ไม่ต่อต้าน ความอยาก และ
ไม่หลง ตาม ความอยาก


ความอยากอะไรเกิดขึ้นในใจเรา
เราควรรู้บ่อยๆ
ความอยากเกิดขึ้นได้ทั้งวัน
ความอยากเกิดได้ 6 ช่องทาง
อยากดู อยากฟัง อยากได้กลิ่น อยากได้รส
อยากกระทบ สัมผัส ทางร่างกาย
อยากได้อารมณ์ทางใจ ที่ดี
อยากพ้นจากอารมณ์ทางใจ ที่ไม่ดี
เป็นเรื่องทางใจ อยากเห็นรูปสวย
อยากจะไม่เห็นของที่ไม่สวย

บางคนก็อยากเห็นของสวยนะ
แต่เจอของไม่สวย ก็อยากดู
เวลารถชนกัน เราอยากดูไหม ??
- อยากดู ว่าจะเละแค่ไหน

ทั้งๆ ที่อยากดูของสวยนะ
แต่ของน่ากลัวก็อยากดูเหมือนกัน แปลกดี

วิธีปฏิบัตินั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก ...
อย่า... ไปตามใจ กิเลส มากเกินไป

ความอยากอะไรเกิดขึ้นเราต้องใช้เหตุผล
ว่าสมควรไหม ??
เช่น หิว อยากกินข้าว ก็ควรกินข้าว
ง่วง แล้วอยากจะนอน ก็ควรนอน
ไม่ใช่ว่า ง่วงแล้ว ต้องไม่นอน
หิวแล้วต้องไม่กิน
ไม่ใช่ !!! อันนั้น..ไม่ใช่ศาสนาพุทธ
อันนั้น ....
สุดโต่งไปข้างทรมานตัวเองมากเกินไป

ความอยากใด สมเหตุ สมผล
มีความจำเป็น เราก็ทำ
ความอยากอะไรที่ไม่จำเป็น
เราอย่าไปเชื่อให้ชีวิตถูกหลอก
ให้ทำงานเหนื่อยยากเกินความเป็นจริง


----------------------------------------------

พระธรรมเทศนา โดยพระอาจารย์ชยสาโร
เรื่อง ปัจจุบันคือห้องเรียน
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ในการปฏิบัติธรรมบ้านบุญ ปี ๒๕๕๖
ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ณ บ้านบุญ ปากช่อง นครราชสีมา

s


คุณต้องสมัครสมาชิก ถึงจะโพสกระทู้ได้

ปิดรับสมัครสมาชิกแล้ว