ยินดีต้อนรับ กรุณา สมัครสมาชิก หรือเข้าสู่ระบบ

Home » หุ้น BTS
เข้าชม : 953

BTS .. จากหุ้นปันผล สู่สถานีต่อไป "Growth Stock"

โพสต์เมื่อ: วันศุกร์ 26 ธันวาคม 2557  20:21 น.
ที่มา http://efinancethai.com/Spinterview/interview/index.aspx?release=y&name=i_bts_surayut_190214i

ถ้าพูดถึง บมจ.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS รถไฟฟ้าขบวนแห่ง “ความมั่งคั่ง” ซึ่งวันนี้กำลังจอดอยู่ที่ “ชานชลาการปันผล” ก่อนที่จะเคลื่อนตัวออกไปสู่ “สถานีแห่งการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่” ในอีก 3 ปีข้างหน้า หลังจาก BTS ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยการขายค่าโดยสารสุทธิในอนาคต ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสุขุมวิท และ สายสีสม เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานกองทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้า BTS หรือ BTSGIF รับเงินเข้าบริษัทมากกว่า 40,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งจาก 65% เหลือ 25%
   แน่นอนการขายสัมปทานดังกล่าวเข้ากองทุน BTSGIF ข้อดีนั้นคือ ทำให้บริษัทเต็มไปด้วยเงินสด แต่ก็มีข้อที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นคือรายได้ของบริษัทที่มาจากรถไฟฟ้า BTS จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ภาพของ BTS ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร eFinanceThai ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน คีย์แมนคนสำคัญของ BTS ที่จะมาฉายภาพอนาคตของบริษัทฯ สู่สายตานักลงทุน

**โครงสร้างธุรกิจของ BTS หลังตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
   ย้อนกลับไปก่อนตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน BTSGIF รายได้ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ของเรามาจากธุรกิจขนส่งมวลชน ก็คือ BTS อีกประมาณ 25 % มาจากธุรกิจมีเดียคือ VGI ที่เหลือประมาณ 10-15% ก็มาจากธุรกิจอสังหาฯ
   แต่หลังจากเราตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน BTSGIF เมื่อวันที่ 19 เมษายน ปี 56 ที่ผ่านมา เราได้ขายรายได้จากการเดินรถไฟฟ้าเข้ากองทุนและระดมเงินมาได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยที่เราเป็นผู้ถือหุ้นในกองทุนด้วย 1 ใน 3 ก็ทำให้โครงสร้างรายได้เราเปลี่ยนไป รายได้จากธุรกิจขนส่งมวลชนลดลงมาเหลือประมาณ 25% โดยจะแปรสภาพกลับมาเป็นเงินปันผลที่ได้จากกองทุน เ ทำให้ปีนี้รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากทาง VGI ประมาณ 38% , property ประมาณ 30-35%
   อย่างไรก็ตามต้องเรียบว่าเรายังคงโฟกัสเรื่องของ mass transit อยู่ เพราะว่าที่เราตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องการจะระดมเงินเข้ามาก้อนหนึ่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะลงทุน mass transit ส่วนต่อขยายในเมืองไทยรวมถึงต่างประเทศ แล้วเราก็ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี – 5 ปีข้างหน้า โครงสร้างรายได้เราก็น่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ก็คืออยากจะให้ mass transit หรือธุรกิจขนส่งมวลชนกลับมาอยู่ที่ประมาณ 2 ใน 3 ,ธุรกิจมีเดียประมาณ 1 ใน 4 หรือ 25%และอสังหาฯ ประมาณ 10-15 % ก็กลับมาที่เดิม แต่ว่าภายใน 1-2 ปีนี้ ธุรกิจของ VGI และอสังหาฯ อาจจะเป็นตัวชูโรง

** แนวโน้มของทั้ง 2 ธุรกิจนี้เป็นอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาเหมือนได้รับผลกระทบจากการเมืองพอสมควร
   จริงๆ VGI พื้นฐานดีมาก มาร์เก็ตแชร์ด้าน mass transit ก็ประมาณ 80-90% ด้านมีเดียในโมเดิร์นเทรดเราก็มาร์เก็ตแชร์ 80-90% growth ก็ดี แม้ว่าช่วงนี้ก็เป็นช่วงสั้นๆที่จะมีรอยย่นบ้างเล็กน้อย รอทางด้านการเมืองนิ่งๆ ถ้าจบคลี่คลายไปได้ เม็ดเงินโฆษณากลับมา แล้วก็พร้อมโตต่อ ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เรากังวลมากนัก อีกอันหนึ่งก็คือว่าทาง VGI ก็มีความสามารถในการบริหารต้นทุนได้ดีมาก พอรายได้โตน้อยลง ต้องบอกว่าไม่ได้ลดลงนะ แต่โตน้อยลงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เขาก็ไปทำแผนบริหารต้นทุนออกมา ทำให้ผลกระทบต่อบรรทัดสุดท้ายไม่ได้เยอะมากมายนัก ก็เก่งในเรื่องของบริหารจัดการตรงนั้น
   ส่วนอสังหาฯ เรามีอยู่ 1 โปรเจ็กต์ คือโครงการ Abstract พหลโยธิน มีอยู่ 1,000 ห้อง ตอนนี้ presale ได้ เกือบ 90%แล้ว และกำลังเริ่มทยอยโอน ก็ต้องเรียนว่าก่อนหน้านี้เราก็โอนไตรมาสละประมาณ 200 ห้อง แต่ไตรมาสสุดท้ายปีปฏิธิน 56 ในเดือน ธ.ค. ยอดโอนน้อยลงพอสมควรทีเดียว หายไปครึ่งหนึ่งเลย ยอดจองเพิ่มก็น้อยมาก อาจจะเป็นเพราะว่าเราอยู่ใกล้ 5 แยกลาดพร้าวด้วย คนก็เลยเดินทางเข้ามาไม่ถึง แต่อันนี้ก็ไม่ค่อยห่วงมากนัก เพราะว่าเหลืออยู่ประมาณ 100 ห้องที่จะขาย ถ้าสถานการณ์กลับมาปกติก็คงขายได้และสามารถปิดโครงการได้

** โอนไปกี่ % แล้ว
   โอนไปประมาณ 70% ส่วนยอดจอง 90%

** แล้วรับรู้รายได้ไปหมดหรือยัง
   ก็ทยอยรับรู้รายได้ คิดว่าจะรับรู้รายได้หมดในปีนี้ตามปฏิทิน แต่หากตามปีงบของเรา ก็จะมีล้นไปปีบัญชีหน้า คือเราปิดปีบัญชีมีนาคม ปีใหม่ก็เริ่มเมษายน เพราะฉะนั้นก็จะมียอดโอนที่ล้นไปเดือนเมษา ล้นไปปีบัญชีหน้าด้วย
   นอกจากนั้นเราก็ยังมีโรงแรม อีสติน แกรนด์ สาทร เปิดมาได้ไม่ถึง 2 ปี สำหรับโรงแรมที่เปิดใหม่นับว่าใช้ได้ทีเดียว occupancy ประมาณ 85% ซึ่งดีมาก แล้วก็จากการสำรวจโรงแรมในกรุงเทพฯ 700 โรงแรม เราอยู่ 1 ใน 10 ถือว่ามีผลตอบรับดี อันนี้ก็เป็นอะไรที่เราค่อนข้างที่จะสามารถสร้างความเจริญเติบโตโดยตรงต่อรายได้ของเราต่อไป

** ในส่วนของอสังหาฯมีโครงการใหม่บ้างหรือไม่
   เรามีที่ดินเปล่าอยู่ในทำเลที่ดีมากๆหลายที่ เช่น ที่สถานีรถไฟฟ้าพญาไท ที่เชื่อมต่อแอร์พอร์ทลิ้งค์ เรามี 3 ไร่ 2 งาน ทำเลดีมาก ติดรถไฟฟ้าเลย ลงสถานีกระโดดลงที่เราได้เลย ก็จะรอความพร้อมในการพัฒนา หรือในการ realize value ต่อไป เพราะตรงนั้นจะเป็นชุมทางรถไฟฟ้า 4 สาย วันนี้ 2 สายมาล่ะ เรารออีก2 ค่อยทำ และเรายังมีที่อีก 17 ไร่ ตรงหมอชิต ตรงนี้ก็ดีมาก เพราะเดี๋ยวรอส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่มาเมื่อไหร่ ก็คงได้มาดูว่าจะทำอะไรกับมันต่อไปก็น่าจะ realize value ได้ อีกที่หนึ่งที่เราก็มีเยอะ ก็คือของที่ธนา ซิตี้ บางนาตราด กม. 15 มีอยู่ 350 ไร่ ก็วิ่งมาทางบางนาตราด ก่อนเลี้ยวเข้าสุวรรณภูมิเป็นที่ของเรา ตรงนั้นก็เจริญขึ้นเยอะ ก็ต่อไปจะมีรถไฟฟ้า LRT ของกทม.มา ถ้าผ่านไปตรงนั้นก็คงเป็นความพร้อมที่เราก็จะพัฒนาได้ ก็ยังมีพวกนี้ที่เราเก็บๆไว้ รอวันที่จะทำให้มันงอกเงย

** ก็คือมีหลายแนวทาง เราจะพัฒนาเองก็ได้ หรือว่าจะขายที่ดินออกไปก็ได้
   ใช่แล้ว ที่เหล่านี้เราไม่ได้กู้แบงก์ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไม่มีภาระ ก็ตัวเบา สบายๆ

** ถ้าเกิดจะพัฒนาโครงการหรือพัฒนาที่ดิน มองมาร์จิ้นไว้สูงขนาดไหน
   ของ Abstract พหลโยธิน 1,000 ห้อง เรา Gross Margin ได้อยู่ประมาณ 35% ก็เป็นตัวเลขที่เราค่อนข้างที่จะ พอใจ ถ้าจะ Launch ตึกใหม่ จริงๆ ตรงนั้นมีอยู่ 3 ตึก ตึก A 1,000 ห้อง อย่างที่บอกไปแล้ว และยังมีตึก B ที่เราจะ Launch ในอนาคต ตัวเลข Target Gross Margin ก็คงประมาณนั้น แต่ในส่วนของตึก B คิดว่าถ้าส่วนต่อขยายมาเมื่อไหร่ก็เปิดขายในช่วงนั้นน่าจะได้ราคาจะดีกว่า ก็คงรอเวลานิดนึง

** มองแนวโน้มธุรกิจการเดินรถอย่างไร เริ่มจากในประเทศก่อน
   ในประเทศโอกาสขยายตัวเยอะมาก ตามแผนแม่บทของสนข. หลังจากมีระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯและปริมณฑล 400 กว่ากม. วันนี้เรามีอยู่ประมาณ 83 กม. ยังเพิ่มได้อีกประมาณ 3-5 เท่า ที่จะขยายได้ เราเองก็ในฐานะที่มีประสบการณ์ ในการเดินรถมา 13-14 ปี มีความพร้อมทางการเงิน เราก็คิดว่าเราก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในโครงการใหม่ที่ภาครัฐจะเปิดให้เข้าไปประมูล เราโฟกัส 4สาย คือ สีเขียวส่วนต่อขยายสายเหนือ วันนี้บีทีเอสวิ่งมาสุดที่หมอชิต ส่วนต่อขยายถัดไปก็เป็นสะพานใหม่ คูคต ก็อีกประมาณ 18 กม. เราก็โฟกัสก็อยากจะเข้าไปร่วมประมูล สายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ตอนนี้วิศวกรรม งานโยธา สร้างอยู่แล้ว เราก็ตั้งใจจะเข้าไปประมูลเรื่องของการเดินรถ ก็อีกประมาณ 12 กม.
   โดยสายสีเขียวต่อขยายเหนือ-ใต้เป็นส่วนต่อขยายของเราอยู่แล้ว เราก็มีความตั้งใจอย่างมากที่จะเข้าไป ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่น่าจะได้พอสมควรเลยทีเดียว
   สายที่ 3 คือ สายสีชมพู ที่วิ่งจากมีนบุรีไปแคราย อันนี้จะเป็น monorail สายสีชมพูจะมาตัดกับสายสีเขียวเหนือ ตัดที่วงเวียนหลักสี่ ก็จะตัดกับเขียวเหนือในอนาคต ซึ่งเราก็สนใจเหมือนกัน สายนี้ก็ดีมาก เพราะแจ้งวัฒนะก็รถติดมาก ก็เป็นสายที่จะมาแบ่งเบาภาวะการจราจรได้ดี แก้คุณภาพชีวิตคนได้ดี
   อีกสายหนึ่งก็คือ LRT Light Rail เป็นโครงการของกทม.อันนี้จะมาเชื่อมต่อสถานีอุดมสุขใกล้ๆ ไบเทค วิ่งไปตามบางนา-ตราด แล้วก็เลี้ยวซ้ายเข้าสุวรรณภูมิ ก็จะผ่านตรงที่ธนา ซิตี้ ซึ่งเรามีที่ดินอยู่ เราก็มีความสนใจ เฉพาะ 4 สายนี้

**ความคืบหน้าในการเปิดประมูลถึงไหนแล้ว
   ตามข่าว สายสีเขียวเหนือจะมีการเปิดประมูลงานโยธา เดือน เมษายนนี้ เราเข้าไปซื้อซองแต่เราคงไม่ได้ตั้งใจจะ bid เรื่องของโยธา ซื้อซองเพื่อทำการบ้านเรื่องของงานเดินรถมากกว่า

**จะมีความล่าช้าจากปัญหาการเมืองหรือไม่
   ตามที่ทางการวางแนวไว้ คือเปิดให้บริการปี 2017 อันนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนเป้า ก็คิดว่ายังพอมีเวลาอยู่ ถ้าตราบใดทุกอย่างเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ก็คิดว่าจะเปิดทันภายในปี 2017

** ถ้าเราเริ่มประมูล ต้องเริ่มลงทุนเมื่อไหร่
   เม็ดเงินคงเป็นปีหน้า

** ทั้ง 4 สาย เลยหรือไม่
   คิดว่าเขียว เหนือ-ใต้น่าจะมาก่อน สีชมพูอาจจะถัดไปจากนั้นอีกสัก 6เดือน LRT ถัดไปกว่านั้นอีกสักปีหนึ่ง เพราะฉะนั้นการวางเม็ดเงินก็น่าจะเป็นช่วง 3-4 ปีข้างหน้า

** เม็ดเงินทั้งหมดสำหรับการลงทุน
   ทั้ง 4 สายประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่โปรเจ็กต์ลักษณะนี้ในแง่การเงิน ควรจะกู้เงิน เพราะมันจะทำให้ return on equity ดีขึ้น เรามอง Project DE ประมาณ 1.5:1 ตรงนี้ต้องใช้เงินประมาณ 40,000 กว่าล้าน ที่เหลือใช้การกู้แบงก์

** แล้วตอนนี้ DE อยู่ที่เท่าไหร่
   DE ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 0.2 เท่า น้อยมาก เรียกว่าแทบไม่มีหนี้เลย ยังพอจะกู้ได้เยอะมาก และเรายังมีเงินสดสภาพคล่องอยู่ในมือกว่า 35,000 ล้าน จากการขายกองทุน

** สายสีเขียว เหนือ-ใต้ เงินลงทุนประมาณเท่าไหร่
   เขียวเหนือทั้งหมดประมาณ 4-5 หมื่นล้าน ส่วนเขียวใต้ประมาณหมื่นหนึ่ง

** ในส่วนของต่างประเทศ ก่อนหน้านี้มีข่าวลงทุนในอินโดฯ และจีน ความคืบหน้าเป็นอย่างไงบ้าง
   ที่อินโดฯ จากการศึกษาแนวโน้มในอนาคตเสร็จกลับมาก็คงมีความคืบหน้า เราก็รอตรงนั้นอยู่ ส่วนเมืองจีนเราได้รับคำเชิญให้เข้าไป bid ก็ต้องบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เราก็รู้สึกภูมิใจที่รัฐบาลจีน เห็นว่าเรามีประสบการณ์ แล้วก็มีความพร้อมในการที่จะเข้าไป bid เดินรถสาย 16 ระยะทาง 50 กม. เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วก็ไปพาร์ทเนอร์กับกลุ่มบริษัท CITIC ซึ่งใหญ่มากๆในจีน ทางซีติค คอนสตรัคชั่นก็มีประสบการณ์ในการสร้างรถไฟฟ้าในหลายๆที่ ก็มีความพร้อมมาก

** ดูเหมือนที่จีนน่าจะได้ไปก่อนอินโดฯ หรือเปล่า
   ก็ประเมินยาก เพราะของจีนจะรู้ผลประมูลในอีก 3 เดือน ส่วนของอินโดฯ เราวางไทม์มิ่งไว้ภายในต้นปีนี้เหมือนกัน แต่เข้าใจว่าน่าจะมีปัจจัยเรื่องของมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย อาจจะทำให้ปัจจัยมีการดีเลย์ออกไป

**ที่ประเทศจีนเรามีโอกาสมาก-น้อยแค่ไหนที่จะประมูลได้ เพราะคู่แข่งอีก 2 เจ้า มีประสบการณ์และทำรถไฟฟ้าในปักกิ่งอยู่แล้ว
   ที่ไป bid นี่เราตั้งใจ และอต้องการชนะ ส่วนเรื่องเปอร์เซ็นต์อาจจะประเมินยาก เพราะเราเข้าไปเป็นครั้งแรก แต่เรื่องประสบการณ์ในการเดินรถ เราคิดว่าเรามี รวมถึงความพร้อมทางการเงิน ที่สำคัญเรามีความตั้งใจ แต่หากมองคู่แข่งซึ่งเป็น MRT จากฮ่องกง และเดินรถที่ปักกิ่งแล้ว 2 สาย เขาก็มีความพร้อมพอสมควร ซึ่งหากครั้งนี้เราไม่ชนะ ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเหมือนการเปิดประตูให้เราเข้าไป ถ้าไม่ได้ก็มีสายอื่น เพราะว่าตอนนี้ที่ปักกิ่ง รถที่ให้บริการเดินรถแล้วประมาณ 400 กว่ากิโล เค้าอยากจะสร้างอีกประมาณเกือบ 500 กม. ภายใน 5 ปี มันก็คงมีสายอื่นให้เราเข้าไปอีก ถ้าสายนี้เราไม่ได้ แต่เราก็ตั้งใจมากสำหรับสายนี้

** การที่เค้าเชิญเราไปร่วม เหมือนกับมีนโยบายที่อยากได้บริษัทอื่นที่ยังไม่เคยทำมาก่อน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง
   ตอนนี้มีอยู่ 2 เจ้า เค้าอยากได้เจ้าที่ 3 เพราะว่า 1,000 กม.นี่เยอะมาก และเจ้าที่ 3 อาจจะมีการแข่งขันอะไรที่มากขึ้น เพิ่ม efficiency ก็ดีกับทุกฝ่าย

** เงินลงทุนสำหรับต่างประเทศ วางไว้เท่าไหร่
   โปรเจ็กต์นี้ถ้าได้ต้องลงเงินประมาณ 15,000 ล้านหยวน หรือ 8 หมื่นล้านบาท เราถือหุ้น 49% ก็ตีประมาณ 4 หมื่นล้านบาท Project DE ก็เหมือนกับในประเทศคือ 1.5:1 กู้เงิน 24,000 ใช้เงินเราเอง 16,000 ซึ่งเรามีความพร้อม ไม่มีปัญหา เพราะว่าเรายังมีเงินที่ได้จากการขายกองทุนอยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท
   ส่วนของอินโดฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษา ยังให้ตัวเลขยาก

** ที่จีนถ้าประมูลได้ ต้องลงเงินทันทีหรือไม่
   ก็คงต้องทยอยลง แล้วจะสร้างรายได้กลับมาในปี 2018 ซึ่งเค้าจะตั้งเป้าว่าจะเปิดบริการ

** มีการประมาณการรายได้ต่อปีหรือยัง
   ช่วงนี้อยู่ในช่วง bidding ข้อมูลค่อนข้าง sensitive แต่ตัวเลขมีหมดแล้ว เพราะว่าเป็นการเดินรถสายที่ 16 แล้ว ค่อนข้างที่จะประมาณการได้อย่างแม่นยำพอสมควร ในเรื่องของค่าโดยสารที่จะเก็บได้ แต่โครงการนี้มีรายได้มาจากการสนับสนุนของรัฐด้วย เพราะว่าที่ปักกิ่ง ค่าโดยสารไม่แพง แต่คนใช้เยอะมาก รัฐบาลเค้าก็มีการสนับสนุนในส่วนหนึ่ง

** ถ้าเกิดเราได้ที่จีน จะถือเป็นการออกต่างประเทศครั้งแรกของเราเลยหรือเปล่า
   ก็ถ้าได้ ก็เป็นที่แรก

** มองภาพบีทีเอสในอนาคตอย่างไร การเดินรถในประเทศกับต่างประเทศ เรามองโอกาสตรงไหนมากกว่ากัน
   จริงๆเราให้ความสำคัญทั้ง 2 ที่ เพราะถ้ามองไปข้างหน้า ปักกิ่งจะมีอีก 500 กม. เมืองไทยจาก 80 เป็น 450 กม. ก็มีโอกาสโตพอสมควร

** มาร์จิ้นอันไหนดีกว่า
   จริงๆ ใกล้เคียงกัน เพราะ เรามี Target equity IR เกิน 10% สำหรับธุรกิจเดินรถอยู่แล้ว

** ดูจากแผนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศใช้เงินค่อนข้างมาก เรามีแผนที่จะต้องเพิ่มทุนอีกหรือไม่ในอนาคต
   คงไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะว่าเราได้มีการออกวอร์แรนต์สำหรับการระดมทุนในอนาคตไว้แล้ว เราออก BTS-W3 ไป 2-3 เดือนที่ผ่านมา และก็เข้าเทรดในตลาดไปแล้ว อายุ 3 ปี ราคาใช้สิทธิ 12 บาท เรามีอยู่ 4,000 ล้านหน่วย คูณ 12 ก็จะได้เงินมา 48,000 ล้านบาท

** คิดว่าราคาหุ้นจะไปถึง 12 บาท ใช่มั้ยในอีก 3 ปี
   ราคาใช้สิทธิ 12 บาทนี้ FA คือ บล.บัวหลวงประเมินให้เรา ซึ่งหากเราสามารถขยายธุรกิจรถไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้ถือวอร์แรนต์ ก็น่าจะใช้สิทธิ์แปลงสภาพ   

**ในเรื่องของผลการดำเนินงาน รู้สึกว่าไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา (สิ้นสุด ธ.ค. 56) )หลายโบรกเกอร์บอกว่าต่ำกว่าคาดการณ์ เกิดอะไรขึ้น
   พอดีมันมีรายการเรื่องของภาษีที่เราต้องจ่ายประมาณ 400 ล้านบาท ถ้าถอดภาษีออกก็กำไร 800 ล้าน ซึ่งถือว่ากำไรดีมาก

** ทำไมเราต้องจ่ายภาษีมากกว่าคาดการณ์ขนาดนั้น
   จริงๆไม่ได้เยอะกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ แต่ว่าเรายังไม่ได้สื่อสารให้ทางนักวิเคราะห์ทราบมากว่า อันนี้เป็นเรื่องทางเทคนิค หลังจากที่เราทำธุรกรรมกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วมีภาระภาษีที่ต้องจ่ายเป็นกลไกให้ BTSC จ่ายเงินคืนกลับมาที่กรุ๊ป เอาเงินไปลงทุนสร้างผลตอบแทนการขยายธุรกิจต่อไป โดยยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งเดียว

** ต่อไปจะมีการประมูลอีกหลายๆสาย มีนโยบายขายเข้ากองทุนอีกหรือไม่
   ความตั้งใจเป็นอย่างนั้น เราได้มา 1 สาย ลงทุนไปแล้ว สายนั้นเริ่มเดินรถ มีรายได้เข้ามา เราก็ขายเข้ากองทุนเพื่อระดมเงินมาแล้วก็ไปลงทุนส่วนต่อ โดยนโยบายก็จะถือหุ้นในกองทุน 33%

** การตั้งกองทุน BTSGIF เป็นที่มาของการการันตีจ่ายปันผลของ BTS
   เรา commit กับผู้ถือหุ้นมากกว่า โดยกรรมการได้อนุมัติจ่ายปันผล 6-7-8 ในเดือนมี.ค. ที่กำลังจะปิดงบ จะจ่าย 6,000 ล้านบาท ปีหน้า 7,000 ล้าน และปีถัดไป 8,000 ล้านบาท รวมกัน 21,000 ล้านบาท ที่เรา commit ว่าเราจะจ่าย ตรงนั้นเป็นที่มาจากเราขายกองทุน เราได้กำไรมา เราได้เงินมาก้อนหนึ่ง ก็ต้องดูแลผู้ถือหุ้นด้วยที่สนับสนุนเรามาตลอด ถึงได้มีประกาศการจ่ายปันผลเป็น 6-7-8

** หากมีการตั้งกองทุนอีกก็จะมีการ commit อีกหรือไม่
   คงแล้วแต่บอร์ดพิจารณา แต่เราก็อยากจะจ่ายปันผลไม่ลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยนโยบาย ในการที่จะลงทุน mass transit พอในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้า ถ้าทำได้ตามนั้น มันก็จะมีรายได้เข้ามาที่เราเรื่อยๆ รายได้เราก็จะเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆด้วย ก็น่าจะสะท้อนกลับมาที่ bottom line ที่มีความสามารถในการจ่ายปันผลด้วย

** ผลการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. เป็นยังไงบ้าง
   ด้านmass transit ที่เราประกาศตัวเลขผู้โดยสารเดือนม.ค. record high ดีขึ้นจากม.ค.ปีที่แล้ว 17 % เป็น new high เลยเพราะมีเหตุการณ์ปิดถนน ส่วนของมีเดีย ม.ค.ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตามสภาพ แต่เข้าใจว่าก.พ.ค่อนข้างใช้ได้ เริ่มมีออเดอร์กลับมาแล้ว ส่วน property คงจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 อยู่นิ่งๆ over all ยังไม่ปิดไตรมาส ถ้าให้ประเมินดูก็น่าจะใช้ได้ ถ้าเทียบกับไตรมาส 3 บรรทัดสุดท้ายก็จะดีขึ้น เพราะว่าจะไม่มีตรงภาษี 400 ถ้าเทียบกับปีก่อนก็โตขึ้น ภาพรวมทั้งปี ปีที่ผ่านมาก็ดี เป็นไปตามเป้าหมายรายได้ โดยปีนี้มีรายได้เข้ามาจากกองทุนเข้ามาประมาณ 13,000 ล้าน ตรงนั้นก็เยอะอยู่เหมือนกัน ดูบรรทัดสุดท้ายก็จะโตกว่าปีก่อนเยอะ
   แต่หากตัดกองทุนออก รายได้ถือว่าเป็นไปตามเป้า Growth 10-15%

** จะจ่ายปันผลประมาณเดือนไหน
   ปันผลปีละ 2 ครั้ง ระหว่างกาล ตอนเดือน ก.พ. final ตอนเดือน ส.ค. แต่ปีผ่านมาปันผลบ่อยกว่านั้น เพราะเราตั้งกองทุน ก็เลยต้องให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วย นโยบายเราไม่ได้จ่ายทุกไตรมาส คราวนี้จ่ายบ่อยกว่าปกติครั้งหนึ่ง เพราะเรื่องกองทุน final dividend คือเดือน ส.ค. พอจบปี มี.ค. ส่งงบเดือน พ.ค. ก็จะจ่ายปันผลเดือน ส.ค. อย่างต่ำก็ต่อง 0.25 บาท เพราะเราจ่ายไปก่อนหน้านั้นแล้ว 0.25 บาท ถ้าเป็น Dividend yield ก็ใช้ได้อยู่ เทีบยบราคาหุ้นปัจจุบันก็เกิน 7%

** วางเป้าหมายของ BTS เป็นหุ้นแบบไหน
   เราวางเป้าหมาย BTS เป็นหุ้นปันผลที่มี Growth หุ้นปันผลคือ ซื้อวันนี้ก็ได้ปันผลอีก 3 ปี แล้ว commit yield 7-8%กว่าๆ หลัง 3 ปีมี growth แน่นอน โดยเฉพาะจากธุรกิจขนส่งมวลชน ที่เรายังเดินหน้าลงทุน และโฟกัสตรงนั้น เพราะเป็นงานที่เราถนัด

** 3 ปีข้างหน้า รายได้ของ BTS จะอยู่ที่เท่าไหร่
   ถ้ามองอีก 3 ปี รายได้เราน่าจะแตะหลักหมื่นล้าน ส่วน Bottom line น่าจะอยู่หลักพันล้าน เพราะเราวางเป้าหมายมาร์จิ้นต้องเกิน 10%

By : ศรวณีย์ พรมเสน
eFinanceThai.com

http://efinancethai.com/Spinterview/interview/index.aspx?release=y&name=i_bts_surayut_190214i


คุณต้องสมัครสมาชิก ถึงจะโพสกระทู้ได้

สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ