นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัลกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โต 25% แตะ7.5 พันลบ. หลังรับรู้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น เผยด้านก่อสร้าง จ่อประมูลงานอีก 3.3 หมื่นลบ. หวังได้ 10% พร้อมเตรียมเจรจาพาร์ทเนอร์เวียดนามลงทุนโซลาร์ฟาร์ม-พลังงานลม 450 เมกะวัตต์ คาดสรุป Q1/62 แย้มช่วง 3 ปีข้างหน้า ใช้งบลงทุน 2 หมื่นลบ.ขยายธุรกิจไฟฟ้า รายละเอียดดังนี้
- ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โต 25% แตะ 7,500 ล้านบาท จากปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท โดยจะรับรู้รายได้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นทั้งเซนได และคิมิตสึ เต็มปี นอกจากนี้ ยังรับรู้รายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading)
- โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ปี 62 มาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 50% หรือ 3,750 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 50% มาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและ Trading ส่วนในปีนี้แบ่งสัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 2,600-2,700 ล้านบาท รับเหมาก่อสร้าง 2,000 ล้านบาท และ Trading ประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท
- ในปีหน้าคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 105 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าเมืองคิมิตสึ กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 , โครงการ CPF Solar Rooftop กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ช่วง Q1-Q2/62 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับพันธมิตรในประเทศมาเลเซีย กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ซึ่ง GUNKUL ถือหุ้นในสัดส่วน 70% หรือคิดเป็นกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ช่วงปลายปี 2562 ซึ่งสิ้นปีนี้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 401 เมกะวัตต์
- ด้านธุรกิจก่อสร้างปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งรับรู้ปี 61 นี้ 300 ล้านบาท และปีหน้า 500 ล้านบาท นอกจากนี้ มีแผนเข้าประมูลงานใหม่ 33,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง มูลค่า 11,000 ล้านบาท , โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้าภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี นครราชสีมา มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท และโครงการติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อย 40 แห่ง ขนาด 115-230 กิกะวัตต์ มูลค่า 11,000 ล้านบาท คาดว่าบริษัทฯ จะได้งานไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่างานทั้งหมด
- บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในประเทศเวียดนาม เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 450 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 300 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 150 เมกะวัตต์ คาดเห็นความชัดเจนใน Q1/62
- ในช่วง 3 ปีหน้า (62-64) ใช้งบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า แบ่งเป็นงบลงทุนต่อเนื่องในโครงการโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นมูลค่า 15,000 ล้านบาท คือ เมืองอุตสึโนมิยะขนาด 70 เมกะวัตต์ และเมืองอิวาคุนิ 73-74 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 5,000 ล้านบาท ใช้ลงทุนในธุรกิจพลังงานในมาเลเซียและอื่นๆ
"มองเทรนด์ปีหน้าโครงการโซลาร์รูฟท๊อปทั้งในประเทศ และเพื่อนบ้านจะบูมมากขึ้น หลังจากรัฐมีแผนสนับสนุนแก๊สและโซลาร์บนหลังคา เห็นได้จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดประชาพิจารณ์แผน PDP ฉบับใหม่ ก่อนเสนอ กพช.ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ " นายสมบูรณ์กล่าว
|